ช่วงนี้หลายคนอาจได้เห็นประเด็นร้อน อย่างการรณรงค์ให้เลิกพูดว่า “อย่าคิดมาก” หรือก่อนหน้านี้ก็มีการพูดถึง “คำห้ามพูด” อย่าง “สู้ๆ” หรือ “เดี๋ยวมันก็ผ่านไป”
จริงๆแล้วคำไหนพูดได้? คำไหนไม่ควรพูด? แล้วจะยังมีประโยคไหนที่พูดได้บ้างนะ?
ในมุมคนพูด หลายครั้งความตั้งใจหรือความรู้สึกที่ซ่อนอยู่หลังคำพูด คือความเป็นห่วง อยากให้ดีขึ้น อยากช่วยหาทางออก อยากส่งกำลังใจ แต่กลายเป็นสิ่งที่สื่อสารออกไปอาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าไม่ได้รับความเข้าใจ
ในมุมคนที่มีความเครียด ก็อยากมีคนที่เข้าใจว่าสิ่งที่เขาเผชิญมันยากสำหรับเขายังไง บางครั้งพอคำแนะนำมาเร็วเกินไป ก็อาจทำให้รู้สึกว่า “ยังไม่ทันได้รับความเข้าใจ” หรือบางครั้งเขาก็รู้อยู่แล้วว่าต้องทำยังไง แค่ยังไม่สามารถไปถึงจุดนั้นได้
อาจเพราะหลายครั้ง สิ่งที่เราต้องการก็เป็นเพียงพื้นที่ที่เราจะได้รู้สึกอย่างไม่ถูกตัดสิน ได้บรรเทาสิ่งที่หนักหนาในใจ ก่อนที่จะมองหาทางแก้ปัญหาต่อไป
สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การพูด คือการรับฟังและความเข้าใจ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ ไม่ว่าจะป่วยหรือไม่ป่วยก็ตาม)
แค่เราอยู่ข้างๆ คอยรับฟังและพยายามเข้าใจในมุมของเขา โดยไม่ตัดสินถูกผิด ควรไม่ควร และยังไม่จำเป็นต้องให้คำแนะนำใดๆ มันก็มีพลังในการเยียวยามากกว่าที่ทุกคนคิดแล้วล่ะ!
หากยึดติดอยู่กับคำพูด ว่าจะพูดอะไรดี อันนี้พูดได้มั้ย มันก็จะเกร็งๆและไม่เป็นธรรมชาติเลยเนอะ กลายเป็นว่าเราก็จะอยู่กับตัวเอง คิดแต่ว่าจะทำไงดี มากกว่าจะอยู่กับเค้าและความรู้สึกของเค้า และเราอาจจะไม่ได้ยิน ว่าจริงๆแล้วเขากำลังรู้สึกอย่างไร
แต่เมื่อเราได้อยู่กับเขาอย่างเข้าใจและเคียงข้างกันแล้ว คำพูดให้กำลังใจหลังจากนั้น มันอาจมีคุณค่าอย่างมหาศาลเลยนะ
ฟังดูแล้ว การ support ใครสักคนจึงไม่ใช่แค่การช่วยเหลือเขา แต่ยังเป็นการจัดการใจของเราควบคู่ไปด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องอาศัยการค่อยๆเรียนรู้ ค่อยๆฝึกฝนไปเรื่อยๆเลยค่ะ
ที่สำคัญ เราสามารถช่วยได้เท่าที่เราพอจะทำได้ การช่วยจนเราเองไม่ไหว หรือเกินกว่าที่เราจะรู้สึกสบายใจ ก็ไม่ส่งผลดีต่อใจเราเช่นกัน
และมันก็ไม่ผิดเลย ถ้าเราจะมีวันที่ไม่พร้อมจะ support ใคร เราสามารถสื่อสารอย่างจริงใจ ยังแชร์ความเห็นอกเห็นใจ และสนับสนุนให้เค้าไปหาผู้เชี่ยวชาญ ที่ได้รับการฝึกฝนมาเพื่อรับมืออย่างถูกต้องได้
แค่ไม่ทำร้ายกัน ไม่ประชดประชันกัน ไม่ต้องฝากรอยแผลไว้ให้กัน เกื้อกูลกันเท่าที่พอสะดวกใจก็โอเคแล้วนะ