มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของหนังยอดฮิตและหนังในดวงใจพวกเราอย่าง Everything Everywhere All At Once มาเล่าให้เพื่อนๆฟังกันค่ะ 😆
หนึ่งในผู้กำกับอย่าง Daniel Kwan ได้เล่าว่า ในช่วงแรกๆของการเขียนบทหนังเรื่องนี้ 🎞 เขาและเพื่อนออกไอเดียกันว่า อยากลองให้นางเอกมีภาวะสมาธิสั้นแบบไม่รู้ตัว เป็นคนที่เสียสมาธิได้ง่าย และทำให้เธอกระโดดไปยังมิติต่างๆใน Multiverse ได้ 🪢
แต่ Daniel ก็กังวลใจว่า เฮ้ยมันค่อนข้างเป็นเรื่อง Sensitive นะ เขาจึงต้องลอง Google หาข้อมูลเรื่องสมาธิสั้นให้ถูกต้องเสียหน่อย ก่อนจะเริ่มเขียนบทออกมา
Daniel ใช้เวลาจมไปกับการหาข้อมูลจนถึงตี 4 🌃 อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้าเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้น ก่อนที่เขาจะเริ่มน้ำตาไหลออกมา เพราะค้นพบสิ่งที่เชื่อมโยงกับตัวเอง
“อ่าา ตรงจัดเลยย หรือว่าเราก็เป็นโรคสมาธิสั้นวะ”
🤏 โรคสมาธิสั้น หรือ ADHD (Attention Deficit Hyperactivity Disorder) เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับสมาธิ มักจะมีอาการเด่นชัดคือเรื่องของสมาธิที่สั้น เช่น ไม่สามารถจดจ่ออะไรนานๆได้ ทำงานไม่เป็นระเบียบ ไม่ละเอียดรอบคอบ ทำการบ้านไม่ครบ ทำของหาย 💨
หรืออาจจะมีอาการอื่นๆร่วมด้วยเช่น เล่นซน ยุกยิก อยู่ไม่สุข พูดไม่หยุด หุนหันพลันแล่น รอคอยไม่ค่อยได้ เล่นแรง
ซึ่งโรคสมาธิสั้นส่วนมากจะถูกพบในวัยเด็ก 🏫 เนื่องจากเป็นวัยที่เริ่มเข้าโรงเรียน เริ่มมีความสัมพันธ์กับเพื่อน และด้วยอาการเหล่านี้มักทำให้เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นเผชิญกับความยากลำบากในการเรียนและการปรับตัวเข้ากับเพื่อน 🙎จนอาจกลายเป็นมีภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวลร่วมด้วย 😥
ถึงอย่างนั้น น้ำตาของ Daniel Kwan💧ก็ไม่ได้หมายถึงความเศร้าเสียใจหรือผิดหวังแต่อย่างใด แต่เขาขยายความว่า มันเหมือนเขาได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น
“หรือว่า.. นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมมีช่วงเวลาที่ยากลำบากในการเรียนและการใช้ชีวิตประจำวันมาตลอด”
“ผมรู้สึกว่า นี่มันเป็นโอกาสที่งดงามจริงๆ ที่จะกลับไปให้อภัยตัวเองในอดีต.. ที่ผ่านมาผมรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่ามาตลอด เพื่อนๆไม่สามารถที่จะพึ่งพาอาศัยผมได้เลย”
การหาข้อมูลเพื่อเขียนบทอาจจะทำให้ Daniel Kwan ได้เริ่มเห็นภาวะสมาธิสั้นที่เขาไม่เคยรู้ตัวมาก่อน ☝️ แต่สิ่งสำคัญที่เรามักจะย้ำเตือนอยู่เสมอก็คือ “การไม่วินิจฉัยตัวเอง” ค่ะ
หลังจาก Daniel เริ่มค้นพบสิ่งเหล่านี้ มันเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาเริ่มเข้าสู่กระบวนการรักษา🌀โดยการไปพบจิตแพทย์ ทานยา และพบนักจิตบำบัด
“การได้รับการวินิจฉัย มันช่วยปลดปล่อยความรู้สึกของการถูกตัดสิน มันทำให้ผมเข้าใจตัวเองมากขึ้น และให้อภัยตัวเองได้มากขึ้น มันเหมือนกับว่า ผมเข้าใจแล้ว และจะมองไปข้างหน้าเพื่อหาทางไปต่อ”
และเขาได้เล่าว่า ในกระบวนการบำบัด ทำให้เขาได้เข้าใจและยอมรับตัวเองมากขึ้น 🫶 ซึ่งมันเปลี่ยนแปลงวิธีที่เขามองตัวเองและวิธีที่เขาพูดกับตัวเอง จากความรู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองเป็นนั้นมันเป็นเรื่องแย่ เรื่องน่าเวทนา 🤜 กลายมาเป็นการมองว่ามันโอเคนะกับสิ่งที่ฉันเป็น และจริงๆมันก็เจ๋งออก !
แม้ว่าในท้ายที่สุด Everything Everywhere All At Once จะไม่ได้พูดถึงตัวเอกที่เป็นโรคสมาธิสั้น แต่มันก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้กำกับอย่าง Daniel Kwan ไปตลอดกาล
และถ้าหากใครดูเรื่องนี้แล้ว ก็อาจจะรู้สึกได้ว่า ประสบการณ์การเผชิญกับความยากลำบาก ความโดดเดี่ยว การเยียวยาตัวเอง และการได้รับการประคับประคองจากคนรอบตัว อย่างที่ Daniel เจอมา มันคือแก่นแท้ของหนังเรื่องนี้เลยล่ะค่ะ 😉💚